สถิติ:Total Pageviews

Friday, September 9, 2011

ครูพิชญ์สินี ดวงศรี : ครูกับการพัฒนาบุคลิกภาพ


        บุคลิกภาพเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้มีอาชีพครู เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความศรัทธา ความน่าเชื่อถือและประทับใจ ให้กับผู้เรียนผู้พบเห็น อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้การประกอบอาชีพครูบรรลุวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นครูที่ดี     จึงต้องมีการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างสม่ำเสมอ และนอกจากนี้แล้วบุคลิกภาพยังเป็นระบบพฤติกรรมของบุคคล คือไม่เพียงแต่การแสดงออกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบุคลเท่านั้น แต่ยังแสดงตัวตนหรือเอกลักษณ์ของแต่ละคนอีกด้วย
            บุคลิกภาพ หมายถึง พฤติกรรมลักษณะเฉพาะของมนุษย์ที่ทำประจำและสอดคล้องกัน ที่มาคำว่า บุคลิกภาพ ในภาษาอังกฤษ คือ “personality” เชื่อว่ามาจากภาษาลาติน “persona” ซึ่งหมายถึงหน้ากาก ที่ชาวกรีกใช้สวมในการแสดงละครเวที และยังหมายถึง ตัวละคร นักแสดง หรือคนที่มีพฤติกรรมลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล รวมไปถึงแนวโน้มพฤติกรรมเคยชินที่เกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม (พัฒนาบุคลิกภาพ เสริมสร้างเชาว์ปัญญา,2544:67) 
            บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต คือทุกคนมีเอกลักษณ์ จึงทำให้จดจำง่ายและเข้าใจตัวบุคคล ทำให้บุคคลมีความมั่นใจในตนเอง เพราะบุคลิกบางอย่างเหมาะกับงานที่รับผิดชอบ และบางคนมีบุคลิกภาพเป็นแบบอย่างแก่อนุชน  นอกจากนี้แล้ว บุคลิกภาพยังทำให้เกิดการปรับตัวที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเป็นที่เคารพรักของบุคคลทั่วไป     (วิไล    ตั้งจิตสมคิด,2544ก:133-134)
            ปัจจัยที่มีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ ประกอบด้วย อิทธิพลของร่างกาย เช่น การตอกย้ำปมด้อยเด็กเรื่องร่างกาย เด็กก็จะสร้างพฤติกรรมอื่นทดแทน เป็นการชดเชย  อิทธิพลจากต่อมต่างๆของร่างกาย เช่น ต่อมธัยรอยด์เป็นต่อมที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ถ้าฉีดต่อมฮอร์โมนมากเกินไป จะทำให้เกิดการเผาผลาญในร่างกาย กลายเป็นคนรุกรี้รุกรน เคลื่อนไหวบ่อย ถ้าฉีดน้อยเกินไป จะกลายเป็นคนเฉื่อยชา นอกจากนี้อิทธิพลทางสังคม (Social Factor)ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพต่างกัน เช่น ฐานะครอบครัว ประเภทของโรงเรียน  และเพื่อนซึ่งเป็นตัวที่มีอิทธิพลมาก  ประการสุดท้าย คือ อิทธิพลของการศึกษา(Learning) กล่าวกันว่ามนุษย์เป็นองคาพยพที่เรียนอยู่เสมอ ดังนั้นความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อได้รับการศึกษาย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ    (กันยา สุวรรณแสง,2533:49-50)
            สำหรับคนที่เป็นครู บุคลิกภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถือเป็นสิ่งแรกที่จะสร้างความประทับใจให้กันผู้เรียน ผู้พบเห็น ดังนั้นครูจึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทุกด้าน แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ความสวย ความหล่อ ความดูดีในรูปลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง อาทิ
            1.บุคลิกทางกาย  เช่นรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ถือเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด แก้ไขยาก แต่สามารถปรับปรุงพัฒนาได้ตามสมควร
            2.บุคลิกภาพการแต่งกาย   เป็นลำดับแรกที่นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไปมองเห็น จึงมีผลต่อการสร้างเจตคติที่ดีต่อตัวครู การแต่งกายของครูจึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานที่ ความนิยมของสังคมในโอกาสต่างๆ รวมทั้งเหมาะสมกับรูปร่าง และฐานะทางเศรษฐกิจ ราคาไม่แพงเกินความจำเป็น แต่เน้นเรื่องความสะอาดเรียบร้อย การวางตัวและกิริยามารยาทที่ดี
            3.บุคลิกภาพทางสังคม เป็นแรงขับจากตัวของบุคคล ที่แสดงออกสู่สายตาสาธารณชน โดยเฉพาะคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม อาทิ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น
            4.บุคลิกภาพทางอารมณ์  เป็นสิ่งที่อาจแสดงออกมาหรือไม่แสดงออกก็ได้  เช่น ครูที่มีอารมณ์ขัน  จะทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน  ครูที่มีอารมณ์ดี ทำให้ครูน่ารัก เด็กนักเรียนกล้าปรึกษาปัญหา  ครูที่มีอารมณ์เย็น ทำให้ครูเป็นคนน่าคบหา ไม่วู่วาม มีเหตุผล  ครูที่มีความมั่นคงทางอารมณ์  ทำให้ครูสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี และจะได้เปรียบในการดำเนินชีวิต การที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ถือได้ว่าเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญที่สุดในทุกสายอาชีพ โดยเฉพาะสายอาชีพครู
            5บุคลิกภาพทางสติปัญญา  เป็นเรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและมันสมอง แต่การศึกษาและสิ่งแวดล้อมก็สามารถช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของสติปัญญาได้ ครูจึงต้องรู้จักการแบ่งเวลาให้มีประโยชน์ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ ข่าวสารใหม่ๆให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลา  (วิไล    ตั้งจิตสมคิด,2544ข:136-138)
            จากการสัมภาษณ์นาย สมภพ รามแก้ว นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (28 กรกฎาคม 2548) ครูหลายคนวางตัวสูง คิดว่าการเป็นครูต้องทำให้เด็กนักเรียนกลัว นักเรียนเคารพ และเชื่อฟังด้วยมาดดุๆเพียงอย่างเดียว โดยที่ครูไม่เคยยิ้ม พูดเล่น หรือสนุกสนานกับเด็กนักเรียน ก็จะส่งผลให้บรรยากาศภายในห้องเรียนตึงเครียด เด็กนักเรียนไม่อยากเรียน เพราะไม่ชอบ ไม่ประทับใจกับการวางตัวของครู  สำหรับครูบางส่วนก็มีความอดทนต่ำ เมื่อเด็กนักเรียนทำผิด ก็ลงโทษอย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีการซักถามแต่อย่างใด ทำให้เด็กนักเรียนขาดความศรัทธา การสอนก็ไม่บรรลุเป้าหมาย
            จากการสัมภาษณ์นางสาว วนิดา   เหล็มขุน     นักศึกษาคณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัย                สงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่  (29 กรกฎาคม 2548) มองว่ามีครูหลายคนที่แต่งกายไม่สุภาพ ใส่เสื้อผ้ารัดรูป ใส่เครื่องประดับแพงเกินความจำเป็น ทำให้เด็กนักเรียนบางส่วนเลียนแบบ ส่งเสริมนิสัยฟุ่มเฟือยให้กับเด็กที่แยกแยะไม่ออก เด็กนักเรียนบางคนเห็นว่าครูทำได้ ตัวเองก็น่าจะทำได้เช่นกัน และที่ร้ายแรงกว่าการแต่งกาย คือ ครูบางคนสอนนักเรียนแบบรู้ไม่จริง ซึ่งจะส่งผลเสียแก่เด็กนักเรียนโดยตรง
            จากการสัมภาษณ์นางสาว ปิยวัลย์ ชัยเชื้อ นักเรียน สาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย (29 กรกฎาคม 2548) ครูที่มีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพ เช่น   ครูที่คิดว่าตัวเองถูกต้องที่สุด บังคับ หรือสอน ให้นักเรียนคิดตาม แต่ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดบ้าง ทำให้เด็กนักเรียนเกิดความขัดแย้ง ไม่เชื่อฟังครู สำหรับครูบางคนชอบสอนให้เด็กนักเรียนปฏิบัติ แต่ครูเองกลับปฏิบัติไม่ได้ เช่นสอนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่ครูกลับไปสูบเอง   และยังมีครูบางส่วนที่ควบคุมสติ อารมณ์ตัวเองไม่อยู่บันดาลโทสะกับเด็ก หรือทำอนาจารเด็กนักเรียน ดังตัวอย่างตามหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน
            จากการสัมภาษณ์นาย ดนัย จันทร์มุณี นักเรียน สาขาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพานิชยการหาดใหญ่                (27 กรกฎาคม 2548) นักเรียนส่วนใหญ่ต้องการครูที่ดีพร้อมทั้ง กาย ใจ  อารมณ์ และสติปัญญา  หรือต้องการครูที่สามารถจัดระเบียบตัวเองได้ครบถ้วนทุกด้าน หรือถ้ามีความบกพร่องบ้างก็อยากให้มีน้อยที่สุด เพราะเด็กนักเรียนทุกคนมองว่า ครูคือบุคคลที่ ควรเคารพ และเป็นแบบอย่างที่ดีเสมอ
            จากการสัมภาษณ์เด็กหญิง นฤมล ฤทธิ์เดช  นักเรียน โรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ (29 กรกฎาคม 2548)   ต้องการครูที่มีบุคลิกภาพดี ทันยุคทันสมัย มีความรู้ดี สอนให้เด็กคิดเป็น แก้ไขปัญหาได้ ครูใจเย็น มีเหตุผล เข้าใจสภาวะเด็กทุกคน ปรึกษาได้ทุกเรื่อง สอนสนุกไม่เครียด จะทำให้เด็กไม่เบื่อหน่ายการเรียน
            การพัฒนาบุคลิกภาพครู คือ การวิเคราะห์บุคลิกภาพของครูแต่ละคนว่าเหมาะสมเพียงใด เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ยังขาด หรือบกพร่องให้เป็นไปในลักษณะที่ปรารถนา ด้วยการฝึกฝนบุคลิกภาพทั้งด้านกาย อารมณ์ ด้านสังคม และสติปัญญาให้เหมาะกับการประกอบวิชาชีพครู   
            สำหรับวิธีการพัฒนาบุคลิกภาพ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ สอนดี  มีความรู้ดี  และประพฤติดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ครูต้องมีบุคลิกภาพดีด้วย ดังนั้นจึงมีวิธีการพัฒนาบุคลิกภาพครู 10 ขั้นตอน
            ขั้นที่1 มั่นใจในตนเอง  ครูต้องมุ่งมั่นพัฒนาบุคลิกด้วยใจเบิกบาน ขจัดความกลัว ขจัดปมด้อย เห็นคุณค่าตัวเราเอง
          ขั้นที่2 มีไมตรีจิต  ครูต้องรู้จักการให้ผู้อื่นก่อน ด้วยใจจริง จะทำให้ได้มิตรที่แท้จริงกลับมา หรือคนอื่นประทับใจเราอย่างที่เราประทับใจคนอื่น
       ขั้นที่3 คล่องแคล่ว-ว่องไว ศึกษาบุคลิกบุคคลรอบข้างว่าเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร แล้วปรับตัวเอง ให้มีความคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง แต่ต้องรู้จักสัมมาคาราวะ
            ขั้นที่4 ตรงต่อเวลา   ครูต้องรักษาเวลา เพราะการรักษาเวลานัดหมายเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือไว้ใจ และเกรงใจจากผู้อื่น
            ขั้นที่5 การควบคุมตัวเอง  ครูต้องมีรูจักควบคุมอารมณ์ สติ ในการแก้ไขปัญหาอย่างชาญฉลาด
            ขั้นที่6 รู้จักกาลเทศะ    ครูต้องคิดเป็นว่าสิ่งไหนดี- ไม่ดี อะไรควรทำ- ไม่ควรทำ แล้วอะไรเหมาะ -ไม่เหมาะ และทำให้เกิดผลดี
            ขั้นที่7 มธุรสวาจา    ครูต้องมีทักษะการพูดที่ดี คือพูดดีมีสาระ จริงใจ ไพเราะ ประทับใจคนฟัง
            ขั้นที่8 เอาใจเขามาใส่ใจเรา   ครูคิดทำการใดต้องรู้จักประมาณใจคนอื่น(คิดว่าเราเป็นเขา เขาเป็นเรา)
            ขั้นที่9 เสริมลักษณะทางกาย  ครูต้องแต่งกายให้เรียบร้อย สะอาด และเหมาะสมกับกาลเทศะ มีมารยาทการออกสังคมที่ดี
          ขั้นที่10 เติมเต็มชีวิตชีวา    ครูต้องผสมผสานทั้ง10ขั้นตอนเข้าด้วยกัน แต่ให้เพิ่มความน่ารัก และความจริงใจที่ไม่แสแสร้งเข้าไปด้วย
            สำหรับ บุคลิกภาพครูที่พึงประสงค์ ในพุทธศาสนากล่าวถึง สัตบุรุษ หมายถึง ผู้ที่มีความเห็นชอบตามธรรมนองคลองธรรม โดยยึดหลักคุณธรรม 7 ประการ ที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม" ดังนี้ ธัมมัญญุตา รู้หลักรู้เหตุ  อัตถัญญุตา  รู้จักความมุ่งหมายและรู้จักผล   อัตตัญญุตา  รู้จักตน  มัตตัญญุตา  รู้จักประมาณ  กาลัญญุตา  รู้จักกาล   ปริสัญญุตา  รู้จักชุมชน  ปุคคลัญญุตา  รู้จักบุคคล  (ตั้งจิตสมคิด,2544ค:138-142)  
          บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความประทับใจ ความศรัทธา ความเชื่อมั่น ให้กับนักเรียน และผู้พบเห็น อีกทั้งยังเป็นสิ่งบ่งชี้เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลอีกด้วย ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องมีบุคลิกภาพที่ดี เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์  ครูต้องพัฒนาบุคลิกภาพให้เหมาะสม โดยวิเคราะห์ตนเอง ปรับปรุงตนเอง ฝึกตนเอง และประเมินตนเอง
            ทั้งนี้ลักษณะของครูที่ดีควรมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิชาชีพครู  ครูต้องมีความศรัทธาในวิชาชีพครู และลักษณะครูไทยที่พึงประสงค์ควรมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ มีความรู้ดี มีบุคลิกภาพดี และมีคุณธรรมจริยธรรม    

                                                                                                                                บทความจากที่เรียนวิชาชีพครู  ปวค. 2548


                                                                                                

No comments:

Post a Comment