สถิติ:Total Pageviews

Friday, September 30, 2011

ครูพิชญ์สินี ดวงศรี : PICHSINEE DUANGSRI: จิตวิทยาพัฒนาสู่แนวการสอน

PICHSINEE DUANGSRI: จิตวิทยาพัฒนาสู่แนวการสอน

Friday, September 9, 2011

ครูพิชญ์สินี ดวงศรี : บูรณาการความรู้ด้านทักษะการคิดสู่การคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์

          การถ่ายทอดประสบการร์เรียนรู้จากครูผู้สอนสู่ผู้เรียน ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญที่ไม่เพียงแต่ถ่ายเทข้อมูลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างกระบวนการคิดให้ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้ ในทุกสถานการณ์ และทุกโอกาสของการใช้ชีวิต ซึ่งอาจจะเผชิญกับสิ่งต่างๆที่ไม่อาจกำหนดได้
         การพัฒนากระบวนการสอนจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ผู้สอนควรใช้กระบวนการจัดกิจกรรมที่เน้นความสำคัญ หรือมีจุดโฟกัส ให้ผู้เรียนเป้นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ คือส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติเก่ง ดี มีความสุข ทั้งนี้ครูต้องนำประสบการณ์ความรู้ หรือที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า การอบรม สัมมนา มาปรับปรุงแนวทางการสอนให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง คือสอนให้นักเรียนรู้จักการคิดวิเคราะห์ หรือสังเคราะห์เป็น  โดยครูผู้สอนเปลี่ยนบทบาทจากผู้ป้อนหรือให้ข้อมูล (Data)เปลี่ยนเป็นศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้ ที่สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถ คิดแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองอย่างชาญฉลาด และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
         แนวทางการพัฒนาการสอนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการสร้างกระบวนการคิดให้กับผู้เรียนมีปัจจัยหลายประการ เช่น การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ซึ่งไม่ได้หมายถึงวัตถุหรืออุปกรณ์ต่างๆที่ประดับตกแต่งไว้รอบๆห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้สอนและผู้เรียน มีการถ่ายทอดสาร และรับสารอย่างเต็มใจ ด้วยภาษาที่สวยงาม สื่อถึงมิตรภาพที่แสนดี นอกจากนั้นธรรมชาติของเด็กก็เป็นสิ่งผู้สอนต้องเข้าใจมาตั้งแต่ต้นเมื่อก้าวมาสู่อาชีพผู้สอนว่า ธรรมชาติของเด็กเป็นอย่างไร และที่สำคัญไม่มีเด็กคนไหนที่เหมือนกันแม้แต่คนเดียว ดังนั้นสิ่งเดียวที่สามารถเหนี่ยวรั้งให้ความต่างที่มารวมตัวกันภายในห้องสี่เหลี่ยม หรืออาจจะเป็นพื้นที่โล่งไร้ขอบเขตนั่นคือ ความรัก เพราะสิ่งนี้จะทำให้ผู้สอนมีความอ่อนโยน และรู้จักการให้อภัยได้ในทุกๆเหตุการณ์ที่มากระทบจิตใจ อารมณ์หรือความรู้สึก
        ผู้สอนยุคใหม่จึงควรปรับ และเปลี่ยน หรือทราบแล้วเปลี่ยน ไม่ยึดมั่นถือมั่นความคิดตนเองเป็นหลัก เพราะความคิดเล็กๆหลายความคิดในห้องเรียนเมื่อรวบรวมกันก็เป็นความคิดที่ยิ่งใหญ่ที่บริสุทธิ์ นอกจากนี้ ผู้สอนต้องเป็นครูประชาธิปไตย คือสอนความเป็นพลเมืองให้กับนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเป็นเด็กเก่ง คือ เก่งสังเกต เก่งสืบค้น เก่งคิด เก่งทำ เก่งเล่า เก่งดี และเก่งยิ้ม และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

                                บูรณาการความคิดสู่บทความ จากการเข้าฟังอบรมทักษะการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ วันที่ 3-5 สิงหาคม 2554 โรงแรมอาเชี่ยน หาดใหญ่ (วิทยากร ดร.เครือศรี วิเศษสุวรรณภูมิ)
จึงขอขอบคุณไว้ ณโอกาสนี้ด้วย

ครูพิชญ์สินี ดวงศรี : จิตวิทยาพัฒนาสู่แนวการสอน

         แนวคิดทฤษฎีของอิริคสัน ได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ แต่ต่างกันที่ทฤษฎีของอิริคสันจะเน้นความสำคัญที่ว่าพัฒนาการของบุคคลจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางจิตใจมากกว่าการตอบสนองทางร่างกาย
                อิริคสันมีความคิดพื้นฐานในการพัฒนาทฤษฏีของเขาดังนี้
1.มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานความต้องการพื้นฐานอย่างเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคมของเด็กซึ่งเกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะมีแบบแผนการพัฒนาเป็นเช่นเดียวกันในสังคม
2.พัฒนาการเป็นไปตามลำดับขั้น โดยพัฒนาการขั้นสูงขึ้นจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการพัฒนาในขั้นต้นแล้ว
3.ตลอดช่วงชีวิตมนุษย์จะมีการแบ่งช่วงพัฒนาทางจิตสังคมออกเป็นขั้นๆ ในแต่ละขั้นจะมีปมขัดแย้ง ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่แต่ละบุคคลต้องประสบ วิกฤตขัดแย้งนี้จะแตกต่างกันไปตามขั้นของการพัฒนา
4.วิกฤตขัดแย้งในแต่ละขั้นหรือในแต่ละช่วงอายุเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะบุคคลจะต้องพัฒนาความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง จากความรู้สึก 2 อย่างที่ตรงกันข้ามกัน ความรู้สึกอย่างหนึ่งเป็นขั้วบวก และความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งเป็นขั้วลบ เช่นความรู้สึกไว้วางใจ-ความไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง-ความอาย หรือเคลือบแคลงสงสัย
5.การพัฒนาทางจิตสังคม คือ การผ่านพ้นวิกฤตขัดแย้งจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งการพัฒนาที่ดีก็จะก่อให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี  บุคลิกภาพที่ดีในที่นี้หมายถึง การที่บุคคลได้พัฒนาความรู้สึกในทาง บวกมากกว่าความรู้สึกในทางลบ  เช่น เกิดความรู้สึกไว้วางใจเกิดความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากกว่าอายหรือเคลือบแคลงสงสัย เป็นต้น
                จากการพัฒนาทางจิตสังคม อาจจำแนกออกเป็น 3 ระยะด้วยกันคือ 1. พัฒนาการระยะก่อนวัยเรียน 2. พัฒนาการระยะวัยเรียน และ 3. พัฒนาการระยะหลังวัยเรียน
1. พัฒนาการระยะก่อนวัยเรียน
                ระยะนี้พัฒนาการทางจิตสังคมที่เกิดขึ้นคือ 3 ขั้นแรกในทฤษฎีของอิริคสัน ซึ่งลักษณะสำคัญที่ต้องเสริมสร้างให้เกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกไว้วางใจ ( Trust ) ความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ( Autonomy ) และความคิดริเริ่ม ( Initiative )
2. พัฒนาการระยะวัยเรียน
2.1 ระดับประถมศึกษา
                วิกฤตขัดแย้ง ( Crisis ) ที่เกิดขึ้นในระยะอายุ 6-12 ปี ก็คือ ความอุตสาหะพากเพียร ความรู้สึกด้อย ( Industry VS. inferiority ) อิริคสันให้ข้อสังเกตว่า เมื่อเด็กเข้าเรียนระดับประถมศึกษา เด็กริเริ่มเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความอุตสาหะพากเพียรที่เขาทำงานบางอย่าง กับความสุขที่เกิดขึ้นหรือจากความสำเร็จที่ได้รับในสังคมใหม่เพื่อนจะมีความสำคัญต่อเด็กมากขึ้น ความสามารถของเด็กจะพัฒนาขึ้นทั้งทางวิชาการ และการทำกิจกรรมกับกลุ่ม ความสำเร็จทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าเขามีความสามารถ เขาจะทุ่มเทในกิจกรรมทั้งหลายด้วยความพยายาม ถ้าหากเด็กทำกิจกรรมทั้งหลายไม่ได้ หรือทำแล้วไม่ได้รับการยอมรับ เขาก็จะเกิดความรู้สึกด้อย หรือต่ำต้อย
2.2 ระดับมัธยมศึกษา
                ในระยะที่เด็กเรียนในระดับมัธยมศึกษา เป็นช่วงวัยรุ่น ซึ่งเด็กจะพยายามจะค้นหาตัวเองเพื่อกำหนดแนวชีวิตของตนเอง หรือที่อิริคสันเรียกว่า การแสวงหาเอกลักษณ์แห่งตน ( Identity ) คือการพยายามจะตอบคำถามว่า ฉันคือใคร ( ฉันต้องการอะไร มีความสามารถอะไรเพียงใด มีความเชื่อหรือยึดมั่นในสิ่งใดอย่างไร หรือจะดำเนินชีวิตตนเองต่อไป อย่างไร หรือจะเลือกอาชีพอะไร ) อิริคสัน เชื่อว่า การพัฒนาเอกลักษณ์ของตนนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการพัฒนาในขั้นต้นๆ ของเด็กว่าได้เชื่อว่า ผ่านพ้นวิกฤติขัดแย้งต่างๆมาได้ด้วยดีหรือไม่ ถ้าเด็กผ่านพ้นวิกฤติขัดแย้งในระยะต้นๆมาด้วยดี จะมีส่วนช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองและเห็นภาพตัวเองได้เร็ว และสามารถกำหนดแนวชีวิตได้
3.พัฒนาการระยะหลังวัยเรียน
                ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุระหว่าง 18-35 ปี ปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกผูกพัน ความโดดเดี่ยว ความรู้สึกผูกพันจะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง จากการที่ได้มีใครคนหนึ่งที่เป็นคู่คิด รับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน และเข้าใจกันและกัน ผู้ที่บรรลุภาวะเอกลักษณ์สัมฤทธิ์ได้ด้วยดี ก็จะสามารถพัฒนาความรู้สึกผูกพันนี้ได้ด้วยดี ตรงข้ามผู้ที่ไม่สามารถหาเอกลักษณ์ของตนเองได้  จะมีแนวโน้มกลัวการมีส่วนร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว และเมื่อย่างสู่วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง อายุประมาณ 35-65 ปีก็จะเกิดความรู้สึกอยากดูแลผู้อื่น ถ้าหากบุคคลผ่านพ้นขั้นพัฒนาการทางจิตสังคมทั้ง 7 ขั้นก็จะเกิดความรู้สึกสมบูรณ์และสมหวังในชีวิต ซึ่งจะยอมรับตนเองอย่างเต็มเปี่ยม ในทางตรงกันข้ามถ้าหากการพัฒนาในขั้นต้นดำเนินมาอย่างไม่เหมาะสม ก็เกิดความรู้สึกสิ้นหวังในชีวิต
                ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอิริคสัน อธิบายลักษณะของการศึกษาไปข้างหน้าโดยเน้นถึงสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของคน ซึ่งในแต่ละขั้นของการพัฒนาการนั้นจะมีวิกฤตทางสังคมเกิดขึ้น การที่ไม่สามารถเอาชนะหรือผ่านวิกฤตทางสังคมในขั้นหนึ่งๆ จะเป็นปัญหาในการเอาชนะวิกฤตทางสังคมในขั้นต่อมา ทำให้เกิดความบกพร่องทางสังคม และเป็นปัญหาทางจิตใจตามมาภายหลัง ทฤษฏีพัฒนาการทางบุคลิกภาพตามแนวคิดของ
อิริคสัน แบ่งพัฒนาการด้านจิตสังคมบุคคลเป็น 8 ขั้น ดังนี้
                ขั้นที่ 1 ระยะทารก (Infancy period) อายุ 0-1 ปี :ขั้นไว้วางใจและไม่วางใจผู้อื่น (Trust vs Mistrust ในระยะขวบปีแรกทารกจะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในการดูแลเอาใจใส่ทุกด้าน ให้ความรัก และสอนให้ทารกพบกับสิ่งเร้าใหม่ๆ กอดสัมผัสพูดคุยเล่นด้วยตลอดเวลา โดยเฉพาะในวัยนี้
2.วัยเด็ก
   2-3
ความเป็นอิสระและความละอายสงสัย
ต้องการได้รับเสรี
ภาพ
หาโอกาสที่จะแสดงทักษะที่ตนเองมีอยู่ถ้าขาดการสนับสนุนหรือดูแลมากเกินไปก็จะเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง
3. วัยสนุกสนาน
ความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด
พัฒนาการทางด้านความคิดริเริ่ม
ต้องการอิสรภาพในการดำเนินกิจกรรมการตอบคำถามของพ่อแม่ จะช่วยให้เกิดความคิดริเริ่ม
4.วัยเข้าเรียน 6-11 ปี
ความขยันหมั่นเพียรกับความรู้สึกด้อย
เริ่มมีสมรรถภาพด้านความขยัน
ต้องการได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมที่จะทำให้ได้รับความชมเชย การเข้มงวดเกินไปจะทำให้เกิดปมด้อยกับเขา
5.วัยรุ่น
12-18
การเข้าใจตนเอง
กับความสับสนในบทบาท
สามารถที่จะเข้าใจตนเองดีขึ้น
มีความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองดีขึ้นและจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องรู้จักปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆและกับบุคคลที่แตกต่างกัน
6.วัยหนุ่มสาว 19-40 ปี
สนิทสนมคุ้นเคยกับความโดดเดี่ยว
เริ่มมีความคุ้นเคยกับบางคน
เชื่อมโยงการเข้าใจโดยตนเองและคนอื่นๆ ทำให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคย การแข่งขันและการต่อสู้กัน อาจจะนำไปสู่ความโดดเดี่ยว
7.วัยผู้ใหญ่กลาง41-60 ปี
การให้กำเนิดเลี้ยงดูกับการหมกมุ่นกับตัวเอง
พัฒนาความสนใจเพื่ออนาคต
เริ่มมีความมั่นคงและช่วยแนะแนวทางคนรุ่นหลังได้ มีความขยันขันแข็ง แต่บางครั้งก็เกิดความท้อแท้ และรู้สึกเบื่อหน่าย
8.วัยชรา 60 ปีขึ้นไป
บูรณภาพกับความสิ้นหวังทอดอาลัย
เป็นบุคลที่ยอมรับสภาพความเป็นจริง
การยอมรับสภาพความเป็นจริงของชีวิตนำไปสู่ความภูมิใจ ส่วนความรู้สึกที่ว่าสายเกินไป หรือพลาดโอกาสที่ดีไป จะนำไปสู่ความท้อแท้และสิ้นหวัง







ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา ของเพียเจต์
                ฌองเพียเจต์ (Jean Piget) เกิดที่เมืองเนอซาเตล (Neuchatel ) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1896 และเสียชีวิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1980 รวมอายุได้ 84 ปี เพียเจต์ได้แสดงให้เห็นแววนักวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เล็กๆ เขาเริ่มสนใจธรรมชาติและชีวิตสัตว์และได้เขียนบทความเรื่องนกตั้งแต่อายุเพียง 7 ปี เมื่ออายุได้ 10 ปี ได้ศึกษาชีวิตของนกกระจอกสีเผือก และได้เสนอบทความลงตีพิมพ์ในวารสาร
แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาการทางสติปัญญา
          แนวคิดในเรื่องการพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์เป็นผลมาจากการมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม และผลจากการมีปฏิสัมพันธ์ทำให้เด็กได้เรียนรู้ตัวตน ( self) ซึ่งเดิมทีเด็กไม่อาจแยกตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมได้ การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทำให้สมองจัดสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่าเกิดความคิดรวบยอด ( concept ) ขึ้นมาแล้ว ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จะค่อยๆปรับให้สมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับ เพื่อที่จะให้เข้าใจทฤษฎีของเพียเจต์เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจความคิดรวบยอดและศัพท์ที่เพียเจต์ใช้ดังนี้
                1. โครงสร้างทางสติปัญญา สกีมา ( schema ) เป็นโครงสร้างทางสติปัญญาที่เกิดจากการที่อินทรีย์จัดระบบหรือปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ความคิดรวบยอด เช่น เมื่อเด็กพบกับสุนัขครั้งแรกก็จะเป็นโครงสร้างทางสมอง เกี่ยวกับสุนัขขึ้นมา โครงสร้างอันนี้จะถูกเก็บสะสมเอาไว้ในสมอง จะถูกดึงออกมาใช้เมื่อมีความจำเป็น สกีมาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามประสบการณ์ ในวัยเด็กจำนวนของสกีมาอาจมีเพียง 3-4 อัน แต่พอเข้าวัยผู้ใหญ่ก็จะมีจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วน               
                2. ขบวนการรับเข้ามา ( assimilation ) หมายถึงกระบวนการดูดซับประสบการณ์ใหม่เข้ากับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น เด็กรู้จักเดือน เมื่อไปพบกิ้งกือเข้าเด็กก็เรียกว่า ไส้เดือนมีขา หรือเด็กรู้จักไก่ พอพบเป็ดเข้าก็เรียกว่า ไก่ปากแบน เป็นต้น เด็กรับสิ่งเร้าเข้าสู่สมองตลอดเวลาแต่อาจไม่ถูกต้อง เช่น เด็กบอกว่าเป็น นาฬิกา เมื่อพบเห็นเครื่องชั่งที่ตลาดเป็นต้น
          3. ขบวนการปรับโครงสร้าง ( accommodation ) เป็นขบวนการที่สมองพยายามปรับปรุงโครงสร้างของสติปัญญาที่มีอยู่เดิมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือประสบการณ์ใหม่ซึ่งถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เช่น เมื่อเด็กพบผีเสื้อไม่ว่าจะมีลวดลาย สี ขนาด ต่างกันแค่ไหนก็รู้จักได้ทั้งหมดว่าเป็นผีเสื้อ
                4. การเกิดความสมดุล (equilibrium ) เป็นความสามารถในการปรับขบวนการรับเข้ามา ( assimilation ) กับขบวนการปรับโครงสร้าง ( accommodation ) ให้อยู่ในภาวะสมดุล เพียเจต์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำให้สมดุลระหว่างความคิดใหม่กับความคิดเก่าว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้ทุกชนิด ทำให้คนปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ การที่เราพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความคิดเพื่อให้อยู่ในสภาพที่สมดุลเช่นนี้ จะนำไปสู่พัฒนาการทางสติปัญญา
                เพียเจต์ได้กำหนดขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาตามการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของพฤติกรรมการคิดซึ่งลักษณะสำคัญของขั้น (Stage ) ในการพัฒนาการทางปัญญานั้นมี 4 ประการด้วยกันคือ (Hunt and Sullivan , 1974 : 131-132 )
                1. ขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาแต่ละขั้นจะเป็นช่วงระยะของการสร้างความรู้ความคิดและจัดระเบียบความรู้ความคิดขึ้นในลักษณะที่แตกต่างไปจากขั้นอื่นๆ
                2. เมื่อบรรลุถึงขั้นพัฒนาการทางปัญญาขั้นหนึ่ง ก็จะเริ่มพัฒนาการทางปัญญาในขั้นที่สูงขึ้น ฉะนั้นพัฒนาการทางปัญญาในแต่ละขั้นจะมีลักษณะต่อเนื่องกัน ( Continuity) ตลอดทุกระยะ
                3. พัฒนาการทางปัญญาแต่ละขั้นจะพัฒนาไปตามลำดับก่อน หลัง กล่าวคือ จะเริ่มจากขั้นที่ 1 ก่อน ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 2 ก่อนขั้นที่ 3 ขั้นที่ 3 ก่อนขั้นที่ 4 เสมอ จะไม่มีการกระโดดข้ามขั้น หรือเริ่มขั้นสูงก่อนขั้นต่ำ อย่างไรก็ตามอายุของเด็กแต่ละคนในแต่ละขั้นนั้นอาจจะแตกต่างกันไปได้
                4. กระบวนการของพัฒนาการจากขั้นต้นไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น จะอยู่ในรูปบูรณาการอย่างกลมกลืน ( Integration ) โครงสร้างความรู้ความคิดในขั้นพัฒนาระยะต้นๆจะได้รับการปรับหลอมให้เป็นโครงสร้างความรู้ความคิดใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในขั้นพัฒนาการที่สูงขึ้นต่อๆไป
                เพียเจต์กล่าวว่าการพัฒนาสติปัญญาและความคิดของมนุษย์จะต้องอาศัยทั้งการจัดรวบรวมและการปรับตัวดังกล่าว ซึ่งลักษณะพัฒนาการที่เกิดขึ้นจะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยมีองค์ประกอบสำคัญที่เสริมพัฒนาการทางสติปัญญา 4 องค์ประกอบคือ ( สุรางค์ โค้วตระกูล , 2541 ,น.50 )
1.       วุฒิภาวะ ( maturation ) คือการเจริญเติบโตทางด้านสรีระวิทยามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสติปัญญาและความคิด โดยเฉพาะเส้นประสาทและต่อมไร้ท่อ
2.       ประสบการณ์  ( experience )  ประสบการณ์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านสติปัญญา  เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม  ทั้งประสบการณ์ที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและประสบการณ์เกี่ยวกับการคิดหาเหตุผลและทางคณิตศาสตร์  ซึ่งสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
3.       การถ่ายทอดความรู้ทางสังคม  ( social transmission )  คือการที่บุคคลได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆจากบุคคลรอบข้าง  เช่น  พ่อแม่  ผู้ปกครอง  ครู เป็นต้น
4.       กระบวนการพัฒนาสมดุล  ( equilibration )  คือการควบคุมพฤติกรรมของตนเองซึ่งอยู่ในตัวของแต่ละบุคคลเพื่อปรับสมดุลของพัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดไปสู่ขึ้นที่สูงกว่า


เพียเจต์ได้แบ่งขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาออกเป็น 4 ขั้น  คือ

1.       ขั้นใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว/ขั้นของการใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ ( Sensory Motor Operation or Reflexive )  อายุ 0-2 ปี
                        เป็นขั้นพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาก่อนระยะเวลาที่เด็กจะพูดเป็นภาษาได้  การแสดงถึงความคิดและสติปัญญาของเด็กวัยนี้จะเป็นในลักษณะของการกระทำหรือการแสดงพฤติกรรมต่างๆซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว  เป็นลักษณะของปฏิกิริยาสะท้อน  เช่น  การดูด  การมอง  การไขว่คว้า  มีพฤติกรรมน้อยมากที่แสดงออกถึงความเข้าใจ  เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกตนเองออกจากสิ่งแวดล้อมได้  ตัวตนของเด็กยังไม่ได้พัฒนาจนกว่าเด็กจะได้รับประสบการณ์  ทำให้ได้พัฒนาตัวตนขึ้นมาแล้ว  เด็กจึงสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้
                        พัฒนาการเด็กในขั้นนี้  ยังแบ่งเป็นขั้นย่อยๆได้อีก 6 ขั้น  คือ
1.1   ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง  1  เดือน  เป็นการแสดงพฤติกรรมของปฏิกิริยาสะท้อน  ตัวอย่างเช่น  การดูด  กลืน  เคลื่อนไหว  ดัดเท้า  เป็นต้น
1.2   อายุ  1 - 4 เดือน  เด็กแสดงพฤติกรรมเคลื่อนไหวซ้ำๆ  ง่ายๆ  สนใจการเคลื่อนไหวของตนเอง  
       ตัวอย่างเช่น  เล่นมือ  กำมือ  แบมือ  เป็นต้น  แต่เป็นการกระทำที่ไม่มี    
       จุดหมาย
1.3   อายุ  4 - 8  เดือน  เด็กเริ่มแสดงพฤติกรรมโดยตั้งใจหรือมีจุดมุ่งหมาย  แม้จะแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ  แต่ก็หวังผลจากการกระทำนั้น 
       ตัวอย่างเช่น  สั่นของเล่นเพราะพอใจที่จะฟังเสียงดังของมัน  เป็นต้น
1.4   อายุ  8 12  เดือน  เด็กจะแก้ปัญหาง่ายๆได้ 
       ตัวอย่างเช่น  มองหาของเล่นที่หายไป ผลักหมอนเพื่อเอาตุ๊กตาที่ซ่อนอยู่  ซึ่ง  
       แสดงให้เห็นว่าแม้จะไม่มีของวางอยู่ตรงหน้า  เด็กก็รู้ว่าของมีอยู่ที่ไหนสัก 
       แห่งหนึ่งจุดนี้เองเป็นจุดที่เด็กเริ่มถอนตนออกจากการยึดตัวเองเป็นจุด
       ศูนย์กลาง  เด็กจะทดลองขว้างปาสิ่งของ  แยกสิ่งที่ตนต้องการออกจากกัน
1.5   อายุ  12 18  เดือน  เด็กมีความสนใจในผลของพฤติกรรมใหม่ๆ  เด็กจะทดลองทำสิ่งต่างๆมากขึ้น  มีความคิดริเริ่มที่จะแสดงพฤติกรรมต่างๆ  ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของเชาว์ปัญญา
1.6   อายุ  18 24  เดือน  เด็กสามารถที่จะคิดแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องลองผิดลองถูกเหมือนขั้นที่ 5  เพราะเขามีภาพของคนหรือสิ่งของในความคิด  โดยไม่ต้องมีของจริงๆอยู่ตรงหน้า
       
                        ตัวอย่างสถานการณ์  เช่น  การเลี้ยงดูให้เด็กเล่นของเล่นเด็กวัยนี้จะเริ่มที่จะไขว้คว้า เริ่มมอง มีปฏิกิริยาตอบสนอง อย่างเช่นการแขวนปลาตะเพียนหรือโมบายของเล่นที่เปล เด็กก็จะมองตาม โดยเฉพาะของที่เป็นสีสดใส มองเห็นชัด เด็กจะเริ่มมองเป็นและเริ่มที่จะเล่นยกมือขึ้นมาเพื่อที่จะจับต้องสิ่งของ หรือเวลามีคนไปนำพูดคุยเด็กวัยนี้จะจับใบหน้าหรือจับผม  ซึ่งเด็กวัยนี้ถ้าตามทฤษฏีของอิริคสันเป็นวัยที่ต้องการได้รับความอบอุ่นความเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือคนรอบข้าง คือเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองและมีความต้องการขั้นพื้นฐาน สามารถรับรู้สิ่งต่างๆได้ ดังนั้นจึงต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และคอยเสริมสร้างการพัฒนาการที่ดีให้กับเข้า เพื่อให้เขาโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด
2.ขั้นก่อนปฏิบัติการทางความคิดความเข้าใจ/ขั้นเตรียมสำหรับความคิดที่มีเหตุผล                                                        
  ( Preoperation or Preconceptural Stage or Concrete Thinking Operations )      อายุ 2-7
                        เด็กวัยนี้เป็นวัยก่อนเข้าโรงเรียนและวัยอนุบาล  ยังไม่สามารถใช้สติปัญญากระทำสิ่งต่างๆได้อย่างเต็มที่  ความคิดของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้เป็นส่วนใหญ่  ไม่สามารถใช้เหตุผลอย่างลึกซึ้งได้  เด็กจะใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งของได้แล้ว  แต่ยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่สามารถคิดย้อนกลับและรับความคิดของผู้อื่นได้  การคิดของเขาส่วนใหญ่ยังคงอยู่เฉพาะสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ สามารถประสานกลไกการรับรู้ และการเคลื่อนไหวของร่างกายได้แล้ว พัฒนาการในขั้นนี้ยังแบ่งเป็น 2 ขั้นย่อยคือ
                                        2.1 อายุ 2-4 ปี เด็กเริ่มใช้ภาษาและสัญลักษณ์แทนสิ่งของต่างๆได้แล้ว แต่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น ถ้าถามว่าทำไมนาฬิกาไม่เดิน เขาจะตอบว่าเพราะมันเหนื่อย สมมติให้ตุ๊กตาพูดคุยได้ ยังไม่เข้าใจหรือมีสังกัปเกี่ยวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ พัฒนาการในระยะนี้จึงเรียกว่า preconceptual thought หรือระยะคิดก่อนสังกัป คือยังไม่ สามารถสร้างสังกัปหรือความคิดรวบยอดได้ ดังตัวอย่างทดลองที่มีชื่อเสียงของเพียเจต์เกี่ยวกับความคงที่ของปริมาณ โดยการเอาน้ำมาใส่แก้วที่มีขนาดเท่ากัน 2 ใบ ในปริมาณที่เท่ากันให้เด็กดูและถามเด็กว่าในแก้วใบที่ 1 และ 2 เท่ากันหรือไม่ เด็กตอบว่าเท่ากัน ครั้นเขาเทน้ำจากแก้วใบที่ 1 ลงในแก้วใบที่ 3 มีปริมาณมากกว่าในแก้วใบที่ 2
                          
                จากการทดลองนี้ แสดงให้เห็นว่าเด็กเข้าใจแต่เพียงสิ่งที่เห็นอยู่เฉพาะหน้า ไม่สามารถรับรู้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหรือความคงที่ของปริมาณ ซึ่งแม้จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปแต่ปริมาณก็คงเดิมได้
                                        2.2 อายุ 4-7 ปี พัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้อยู่ในระยะที่เรียกว่า intuitive thought นั่นคือเด็กยังไม่สามารถใช้เหตุผลที่แท้จริงได้ แม้จะมีเหตุผลมากกว่าวัยก่อนสังกัป เด็กก็จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อยากรู้อยากเห็น เลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ แต่ความคิดและความเข้าใจก็ยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่เด็กมองเห็นเฉพาะหน้า ดังการทดลองวางแท่งไม้ที่ยาวเท่ากัน ผู้ทดลองจะเลื่อนไม้แท่ง ข ให้เหลื่อมกัน ดังรูปที่ 2 แล้วถามเด็กอีกครั้ง เด็กจะตอบว่า ไม้แท่ง ข ยาวกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดที่อาศัยเพียงการมองเห็นด้วยตาแต่ขาดการรับรู้ถึงเหตุผล
ตัวอย่างสถานการณ์  
                        เช่น เด็กที่ชอบลอกเลียนแบบโฆษณา หนัง  ละครทางโทรทัศน์ ซึ่งเห็นชัดในกรณีเด็กที่เป็นข่าวที่เลียนแบบการฆ่าตัวตายเหมือนกับละครเรื่องนางบาป เพราะเด็กวัยนี้เขายังแยกแยะไม่ออกแต่สามารถรับรู้เรื่องราวได้บางส่วน คือรู้ไม่ลึกซึ้ง แยกแยะผิดถูกไม่ได้ เมื่อมีผู้ใหญ่บอก หรือให้ทำตามโดยไม่ตั้งใจก็ทำไปโดยไม่ได้คิดจนบางครั้งต้องเกิดความสูญเสีย ดังนั้นละครหรือบางสิ่งบางอย่างจึงต้องระมัดระวังอย่างมากสำหรับเด็กวัยนี้ เพราะเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น นอกจากนี้การวางปืนของพ่อแม่ การวางยาหรือสิ่งของอันตรายก็ต้องระวังเช่นกัน คือต้องนำไปเก็บที่สูงๆเพื่อไม่ให้เด็กนำไปเล่น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นบ่อยครั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ และเป็นภาพที่หดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง 
        ตามทฤษฏีของอิริคสัน เด็กในวัยนี้เป็นวัยมีความคิดริเริ่ม มีจินตนาการ มีสังคมเพื่อน อยากรู้อยากเห็นอยากลอง พ่อแม่ต้องดูแลคอยเสริมความมั่นใจและชีแนะเขา แต่ไม่ไปบั่นทอนกำลังใจ เพราะเขาเป็นวัยที่เกิดความรู้สึกผิดได้ง่ายเมื่อถูกขัดหรือดุด่าว่ากล่าว ซึ่งคล้ายกับทฤษฏีของโคลเบอร์กที่ว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ไม่ชอบการถูกลงโทษจึงมักจะหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ และต้องการยอมรับจากบุคคลรอบข้าง
3. ขั้นปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม/ขั้นคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นรูปแบบ (concrete operational stage ) อายุ 7-11 ปี
        ระยะนี้เด็กจะมีพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาอย่างรวดเร็ว สามารถคิดอย่างมีเหตุผล แบ่งแยกสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ ลำดับขั้น จัดเรียงขนาดสิ่งของ และเริ่มเข้าใจเรื่องการคงสภาพเดิม สามารถนำความรู้หรือประสบการณ์ในอดีตมาแก้ปัญหาเหตุการณ์ใหม่ๆได้มีการถ่ายโยงการเรียนรู้ ( transfer of learning ) แต่ปัญหาหรือเหตุการณ์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรม มีความเข้าใจเกี่ยวกับความคงที่ของวัตถุ โดยเข้าใจว่าไม่ว่าของเหลวหรือของแข็งที่มีปริมาณเท่ากันเมื่อเปลี่ยนรูปร่างหรือที่อยู่ก็จะยังคงยังมีขนาดหรือน้ำหนักเท่าเดิม เด็กจะสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนย่อยในของส่วนรวม สามารถคิดย้อนกลับได้ รู้จักแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่เป็นรูปธรรมได้ ส่วนปัญหาที่เป็นนามธรรมนั้นเด็กยังไม่สามารถแก้ได้
                               
                                เพียเจต์ได้สรุปลักษณะพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเด็กในวัยนี้ไว้ดังนี้
                               
                                1. เด็กวัยนี้จะสามารถสร้างจินตนาการในความคิดของตนขึ้นมาได้
                                2. เป็นวัยที่เด็กจะเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับการคงสภาพปริมาณของสสาร
                                3. เด็กวัยนี้เริ่มมีความสามารถในการคิดเปรียบเทียบ
                                4. เด็กวัยนี้สามารถสร้างกฎเกณฑ์เพื่อจัดสิ่งรอบตัวให้เป็นหมวดหมู่ได้
                                5. เด็กวัยนี้จะมีความสามารถในการเรียงลำดับ
                                6. เด็กวัยนี้จะสามารถคิดย้อนกลับไปกลับมาได้

ตัวอย่างสถานการณ์
        เช่นการเรียนวิชาภาษาไทยเด็กสามารถเรียบเรียงคำตามพจนานุกรมได้ถูกต้อง เพราะเด็กสามารถรียงลำดับได้ว่าตัวอักษรในภาษาไทยตัวไหนมาก่อน หรือเด็กสามารถแยกหมวดหมูหรือ ประเภทหนังสือบางประเภทได้ เช่นนิทาน  นิยาย นิตยสาร ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้เด็กสามารถแยกแยะได้ เพราะเป็นรูปธรรม แต่ถ้าเป็นรูปนามธรรมเด็กยังแยกแยะหรือแก้ไข้ปัญหาได้ไม่ได้
        เมื่อเทียบกับทฤษฏีอิริคสันเด็กวัยนี้ เป็นวัยที่มีความขยันหมั่นเพียรกับการรู้สึกมีปมด้อยได้ง่าย คือแสวงหาสิ่งที่ท้าทายความสามารถสติปัญญา แต่ถ้ารู้สึกผิดหวังหรือท้อแท้จะเกิดปมด้อย แล้วไม่อยากรับรู้อะไรทั้งสิ้น เช่นเดียวกับของโคลเบอร์กที่กล่าวว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่แสวงหารางวัลเพื่อสนองความต้องการให้ตนเอง และเป็นวัยที่ตามเพื่อน

4. ขั้นปฏิบัติการทางความคิดความเข้าใจเชิงนามธรรม ( formal operational stage ) อายุ 12-15 ปี
        ขั้นนี้เป็นขั้นสูงสุดของพัฒนาการทางสติปัญญาและความคิด ความคิดแบบเด็กๆจะสิ้นสุดลง จะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ สามารถคิดแก้ปัญหาที่เป็นนามธรรมด้วยวิธีการหลากหลาย รู้จักคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถตั้งสมมติฐาน ทดลอง ใช้เหตุผล และทำงานที่ต้องใช้สติปัญญาอย่างสลับซับซ้อนได้ เพียเจต์กล่าวว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่คิดเหนือไปกว่าสิ่งปัจจุบัน สนใจที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง และมีความพอใจที่จะคิดพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มี

ตัวอย่างสถานการณ์
        เช่น การดูหนังดูละครเด็กวัยนี้จะไม่ชอบดูหนังที่เข้าใจได้ง่ายหรือไม่ตื่นเต้น แต่เขาจะชอบดูหนังที่ลึกลับซับซ้อนต้องคิดต้องค้นหาไปด้วยในขณะดู เพราะเขารู้สึกว่าท้าทายและเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เนื่องจากเขาสามารถตั้งสมมุติฐานเหตุการณ์ต่างๆได้ตามความน่าจะเป็น ซึ่งเขาก็สามารถคิดตามได้จริงๆ เนื่องจากภาวะทางความคิดของเขาพัฒนาสูงขึ้น สามารถแยกแยะผิดถูกได้ แต่ยังเป็นวัยที่ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงมักจะเกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งบ่อยครั้ง เด็กวัยนี้จะรู้จักการให้กุหลาบให้ช็อคโกแล็ตคนที่เขาแอบปลื้มหรือพอใจ เพราะเริ่มเข้าใจความหมายว่าสิ่งเหล่านั้นแทนสิ่งใด
        ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ตามทฤษฏีของอิริคสัน เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ย่างสู่ความเป็นวัยรุ่น คือเป็นวัยที่ต้องการค้นหาเอกลักษณ์ หรือค้นหาความเป็นตัวตน ถ้าไม่เจอก็จะเกิดความสับสน และเป็นวัยที่ต้องการยอมรับจากสังคม เริ่มสนใจเพศตรงข้าม และมองปัญหาทุกปัญหาเป็นเรื่องใหญ่  เช่นเดียวกับโคลเบอร์กที่กล่าวว่าเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อน และเป็นวัยที่ทำตามคนอื่นที่ตนเองรู้สึกชื่นชอบและประทับใจ เช่นเดียวกับการคลั่งไคล้ดารา เป็นต้น


พัฒนาการทางปัญญากับการประยุกต์ทางการศึกษา
        จากทฤษฎีของเพียเจต์ที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากจะทำให้ทราบถึงขั้นตอนของพัฒนาการทางปัญญาแล้วยังทำให้เข้าใจธรรมชาติจากการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวนี่สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษา 2 ประการใหญ่ ๆ คือ ด้านการเรียนการสอนและด้านการพัฒนาหลักสูตร
ด้านการเรียนการสอน
        จากธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กเพียเจต์เน้นให้เห็นว่าเด็กเป็นผู้มีความอยากรู้อยากเห็นและแรงจูงใจภายในที่จะเรียนรู้หรือสร้างความเข้าใจในสิ่งรอบตัว แนวความคิดนี้นำไปประยุกต์ได้ว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนควรจะเป็นไปในลักษณะที่เด็กเป็นผู้ปฎิบัติการค้นคว้ามีส่วนร่วมในการแสวงหาความรู้มากกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ครูเป็นผู้บอกหรือบรรยายแต่เพียงผู้เดียว
ด้านการพัฒนาหลักสูตร
        ในการพัฒนาหลักสูตรนักการศึกษาควรคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่าประสบการณ์ต่างๆที่กำหนดไว้ในหลักสูตรกับระดับความสามารถทางปัญญาของเด็กแต่ละวัย เช่น เด็กก่อนเรียนซึ่งมีระดับพัฒนาการทางปัญญาอยู่ต้นๆ ของขั้นก่อนการคิดแบบเหตุผลจะเรียนรู้สิ่งต่างๆจากการเล่นและสำรวจ ( Explore ) สิ่งรอบๆตัวด้วยความอยากรู้อยากเห็นเขาจะสนใจเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมและมีกิจกรรมที่เด็กจะต้องเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำด้วยการสัมผัสให้มากที่สุด เด็กในระยะนี้มีการพัฒนาทางภาษาและการจำที่ดีมากเขาอาจเกิดสังกัปเกี่ยวกับสัตว์และสามารถเรียกชื่อสัตว์ได้หลายๆชนิด

ตารางสรุปขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์

ขั้นของพัฒนาการ
อายุ
ลักษณะพัฒนาการ
1. การใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว
เกิด 2 ปี
1. เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างตัวเองกับสิ่งแวดล้อม
2. เริ่มสนใจสิ่งเร้าและแสวงหาประสบการณ์ต่างๆรอบตัว
3.ก่อนที่จะรู้ภาษาเข้าใจสิ่งต่างๆโดยใช้ร่างกายและประสาทสัมผัส
2. ก่อนปฏิบัติการทางความคิดความเข้าใจ
2-7 ปี
อายุ 2-4 ปี
1. คิดถึงตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สามารถรับรู้ความคิดของคนอื่น
2. การใช้เหตุผลเป็นไปอย่างผิวเผินเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
อายุ 4-7 ปี
1. สามารถคิดจัด และแยกประเภทของต่างๆ
2. เริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ
3. เป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นเอง โดยไม่ทราบว่าความเข้าใจนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
4. เริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณ ขนาด น้ำหนัก จำนวน แต่มีความเข้าใจที่เห็นหรือรับรู้เท่านั้น ถ้าเปลี่ยนรูปร่างจะไม่สามารถเข้าใจได้
3. ปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม
7-11 ปี
สามารถคิดโดยใช้เหตุผลเชิงตรรกศาสตร์ในเรื่องต่อไปนี้
1. คิดกลับไปกลับมาได้
2. คิดจัดประเภท
3. จัดลำดับ
4. เห็นความสัมพันธ์
5. สร้างภาพในใจ
6. เข้าใจเรื่องความคงตัวของสสาร เป็นความเข้าในลักษณะที่มองเห็นเท่านั้น
4. ปฏิบัติการทางความคิดความเข้าใจเชิงนามธรรม
12-15 ปี
1. สามารถคิดสิ่งที่เป็นนามธรรมได้
2. สามารถสร้างข้อสรุป ตีความหมาย และทดสอบสมมติฐานต่างๆได้



ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก (Kohlberg ’s Psychosocial Theory )
        ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม ที่คิดค้นโดยโคลเบอร์กเป็นทฤษฎีแห่งเหตุผลเชิงจริยธรรม หมายถึง การที่บุคคลใช้เหตุผลในการเลือกที่จะกระทำหรือเลือกที่จะไม่กระทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุผลที่กล่าวถึงนี้จะแสดงให้เห็นถึงเหตุจูงใจ หรือแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของบุคคล การศึกษาเหตุผลเชิงจริยธรรมจะทำให้ทราบว่าบุคคลผู้ที่มีจริยธรรมในระดับที่แตกต่างกัน อาจมีการกระทำที่คล้ายคลึงกันได้ และบุคคลที่มีการกระทำที่เหมือนกัน อาจมีเบื้องหลังการกระทำและระดับจริยธรรมแตกต่างกันได้เช่นกัน
        โคลเบอร์ก ได้พัฒนาทฤษฎีพัฒนาการทางด้านจริยธรรมคล้ายๆกับทฤษฎีของเพียเจต์ แต่มีความละเอียดซับซ้อนกว่า เขาได้เอาความคิดของเพียเจต์มาผสมผสานกับงานของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความคิดในเรื่องลำดับขั้นของพัฒนาการและความคิดเห็นที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ความเข้ากันไม่ได้ ความไม่สมดุลกัน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสติปัญญา ต่อไปนี้คือเรื่องที่โคลเบอร์กใช้ในการวิจัย เป็นเรื่องที่ใช้กันมากในการอภิปรายเกี่ยวกับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม
        ในยุโรปมีผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งกำลังใกล้จะตาย นายแพทย์ได้บอกกับสามีของเธอว่า มียาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่จะรักษาได้ เป็นยาซึ่งเภสัชกรในเมืองนั้นค้นพบซึ่งราคาแพงมากเพราะประกอบด้วยแร่เรเดียม ซึ่งเภสัชกรคนนั้นคิดราคา 40 เท่าของราคาต้นทุน จากราคา  200 ดอลล่าร์ เป็นราคา 2,000 ดอลล่าร์ นายไฮน์สามีของหญิงผู้ป่วยได้พยายามขอยืมเงินจากเพื่อนฝูงแต่ยังได้เงินไม่พอกับราคายา เพราะเขาหาเงินได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เขาได้ไปหาเภสัชกรเล่าให้ฟังว่าภรรยากำลังจะตาย ขอความกรุณาให้ลดราคายาให้ถูกลงหรือขอให้เขาจ่ายเงินที่เหลือภายหลัง แต่เภสัชกรปฏิเสธ นายไฮน์รู้สึกผิดหวังและเสียใจมากทีไม่สามารถนำยามารักษาภรรยาได้ เขาจึงตัดสินใจเข้าไปขโมยยาจากร้านนั้น สมควรที่สามีของหญิงผู้นั้นจะทำเช่นนั้นหรือไม่ ? ทำไม ? (Kohlberg , 1969 ,p . 376 )
        โคลเบอร์กได้ยึดถือทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียร์เจต์เป็นหลักสร้างทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม โดยแบ่งพัฒนาการออกเป็น 3 ระดับ ภายในแต่ละระดับยังแบ่งพัฒนาการออกเป็น 2 ขั้นตอนรวมเป็น 6 ขั้น คือ
        ระดับที่ 1 ระดับก่อนระเบียบแผนทางศีลธรรม หมายถึง ระดับของการตัดสินใจ เลือกกระทำสิ่งทีเป็นประโยชน์แก่ตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้อื่น ก่อนอายุ 9 ปี เด็กเล็กๆไม่เข้าถึงกฎระเบียบในสังคมอย่างแท้จริงการตัดสินใจมีพื้นฐานมาจากความต้องการส่วนบุคคลแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ
        1. ขั้นหลบหลีกการลงโทษ เพราะกลัวความเจ็บปวดที่ได้รับ ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 7 ปี ซึ่งชอบใช้หลักการหลีกเลี่ยงมิให้ได้รับโทษ และจะเลือกกระทำในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ตนเองมากกว่า เด็กระยะนี้เข้าใจความดีว่าหมายถึงสิ่งที่ทำแล้วไม่ถูกลงโทษหรือถูกตำหนิ

                ตัวอย่างสถานการณ์
        เช่น เด็กยอมทำการบ้าน เพราะกลัวครูทำโทษ เป็นต้น ส่วนการตัดสินใจว่าอะไรถูกหรือผิด เด็กจะมองที่ผลของการกระทำว่า ถ้าเสียหายมากก็ตัดสินว่าการกระทำนั้นผิด ไม่ได้มองที่สาเหตุของการกระทำ
        เช่น เด็กเถียงครูว่าผมไม่ผิด นายเต่าต่างหากที่แตะบอลแล้วแกล้งแตะพลาดโดนผม  ผมเจ็บครูตีผมด้วยทำไม ทำไมไม่ตีนายเต่าคนเดียว ซึ่งเด็กนักเรียนคนนี้เขาไม่รู้ว่าการที่เล่นบอลใต้อาคารนั้นก็เป็นความผิดประการแรกที่ทั้งคู่จะต้องโดนทำโทษ  พฤติกรรมเหล่านี้ของเด็กคือการหลีกเลี่ยงการถูกทำโทษ เป็นต้น

        2. ขั้นการแสวงหารางวัล สัมพันธ์กับสิ่งของ เลือกกระทำในสิ่งที่จะนำความพอใจมาให้กับตนเองเท่านั้น การกระทำความถูกต้องถ้าตอบสนองความต้องการส่วนตัว หรือเป็นการแลกเปลี่ยนที่ทัดเทียมกัน การอยู่ในกฎทำให้ได้รับประโยชน์ อายุ 7-10 ปี ขั้นนี้เด็กจะค่อยๆเน้นความสำคัญของการได้รับรางวัลและคำชมเชย การสัญญาจะให้รางวัลจึงเป็นแรงจูงใจให้เด็กกระทำความดีได้มากกว่าการดุว่าหรือขู่ว่าจะลงโทษ เช่น เด็กจะช่วยพ่อแม่ทำงานเพื่อได้รับคำชมเชย เป็นต้น จริยธรรมของบุคคลในขั้นนี้จะเน้นในด้านการรับคำชมเชย และรางวัลกว่าในการถูกลงโทษ
        ตัวอย่างสถานการณ์
        เช่น เด็กหญิง A มักจะทำงานส่งครูเรียบร้อยและตั้งใจทำงานเป็นประจำ เพราะครูบอกว่าคนที่ทำงานสะอาดเรียบร้อยจะได้รับรางวัลตอนสิ้นเทอมจากครู ทำให้A ขยันเรียน ขยันทำงาน เพื่อรางวัล หรือบางคนก็ทำงานเพื่อการไดรับการชื่นชมจากผู้อื่น ขณะที่บางคนต้องการให้บุคคลอื่นยอมรับ เป็นต้น

ระดับที่ 2 ระดับศีลธรรมซึ่งมีระเบียบแบบแผน หมายถึงระดับของการกระทำตามกฎเกณฑ์ของกลุ่มย่อยๆของตน หรือทำตามกฎหมายและหลักสากล มีความสามารถในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และสามารถแสดงบทบาททางสังคมได้ มีพื้นฐานอยู่บนความคาดหวังของสังคม และความเชื่อว่าควรซื่อสัตย์ต่อครอบครัว กลุ่ม หรือชาติ เพื่อรักษาระเบียบในสังคม แบ่งเป็น 2 ขั้น คือ
        1.ขั้นการทำตามเพื่อน เป็นเด็กดี อายุ 10-13 ปี ขั้นนี้เด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่น จะให้ความสำคัญแก่กลุ่มเพื่อนมาก ต้องการให้กลุ่มยอมรับจึงทำตามบุคคลที่ตนเองเห็นว่าดีงาม คือเอาอย่าง เด็กวัยนี้ยังไม่เป็นตัวของตัวเอง ชอบคล้อยตามการชักชวนของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อน ส่วนมากจะทำตามในสิ่งที่ตนเองตัดสินว่าคนอื่นจะเห็นด้วย การกระทำที่ถูกต้องคือพฤติกรรมที่ทำให้คนอื่นพอใจ ประทับใจ เพื่อให้เป็นที่ชอบพอของเพื่อนฝูงและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน จึงทำตามบุคคลที่ตนเห็นว่าดีงามคือเอาอย่างนั่นเอง จริยธรรมของบุคคลในขั้นนี้เน้นหนักด้านการทำตามคนอื่นมากกว่าคำนึงถึงเรื่องการถูกลงโทษ และรางวัล
        ตัวอย่างสถานการณ์
        เช่นการแสดงพฤติกรรมเลียนแบบดาราของวัยรุ่นในยุกต์ปัจจุบัน หรือครูที่ตนเองประทับใจ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นที่ยอมรับจากสังคมเพื่อนฝูง    เช่นเดียวกับทฤษฏีของเพียเจต์ และอิริคสันที่กล่าวว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และชอบคล้อยตามสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ทำแล้วปฏิบัติแล้วได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะค้นหาความเป็นตัวตนด้วย
                2.ขั้นการทำตามหน้าที่ หรือกฎระเบียบ   อายุ 13-16 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้และมีประสบการณ์แล้วว่าแต่ละสังคมจะมีระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อบังคับต่างๆให้สมาชิกถือปฏิบัติรวมทั้งแต่ละคนจะมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้นคนดีหรือคนที่ทำถูกต้องคือ คนที่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์  ข้อบังคับกฎเกณฑ์สังคม รวมทั้งปฏิบัติตามหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัดมากกว่าจะคำนึงถึงรางวัล หรือการลงโทษที่จะได้รับหรือเพราะทำตามผู้อื่น
                ตัวอย่างสถานการณ์
                เช่น ครูสอนนักเรียนว่าการขับรถโดยไม่มีใบขับขี่เป็นการทำผิดกฎหมาย ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สังคมก็จะวุ่นวาย เพราะเราขับรถไม่รู้กฎจราจรอาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเพราะเราได้ เป็นต้น
                ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมเหนือกฎเกณฑ์ทางสังคม
( Post conventional level) พัฒนาการทางจริยธรรม ขั้นนี้เกิดจากการใช้วิจารณญาณของตนในการตัดสินมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมก่อนจะนำมา ยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติ การตัดสินใจความถูก ความผิด ควร หรือไม่ควรจะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตนเอง  โดยปราศจากอิทธิพลของบุคคลและสิ่งแวดล้อมในสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ระดับนี้สามารถแบ่งเป็นขั้นย่อยได้อีก 2 ขั้น คือ
                ขั้นที่ 1 ขั้นทำตามสัญญา ( Social contract orientation )
ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นขั้นที่จะเน้นมาตรฐานทางจริยธรรมที่คนส่วนใหญ่ของสังคมยอมรับและปฏิบัติตน โดยคำนึงถึงประโยชน์และสิทธิของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ดังนั้นก่อนจะยอมรับและยึดถือปฏิบัติจะมีการใช้เหตุผลและวิจารณญาณไตร่ตรองดูว่า ส่งไหนถูกสิ่งไหนผิด อย่างไรก็ตาม บุคคลในขั้นนี้จะพยายามทำตามหน้าที่ของตนต่อสังคมเหมือนคำมั่นสัญญาที่ตนให้ไว้กับสังคมและสมาชิกทั้งหลาย ไม่พยายามลิดรอนสิทธิของบุคคลอื่น เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เคารพตนเองและผู้อื่น ขณะเดียวกันต้องการให้คนอื่นเคารพตนด้วย
                ตัวอย่างสถานการณ์
                เช่น สมมุติว่านายสรกำลังพาคนเจ็บหนักส่งโรงพยาบาล เขาจึงต้องบกพร่องเรื่องการปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อที่จะส่งคนเจ็บไปยังโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด  ซึ่งสรจำเป็นต้องผิดกฎจราจร แต่ทำประโยชน์ที่มากกว่า คือเขาแยกแยะลำดับความสำคัญได้ว่าเขาควรตัดสินใจทำสิ่งใดก่อน เป็นต้น
               
                ขั้น 2 ขั้นอุดมคติสากล  ( Universal  ethical principle orientation )
ขั้นนี้จะอยู่ในช่วงตั้งแต่วัยผู้ใหญ่เป็นต้นไป เป็นขั้นที่บุคคลจะสร้างอุดมคติและคุณธรรมประจำใจของตนเองขึ้นมา เช่น ยึดหลักมนุษยธรรม  เมตตาธรรม และยุติธรรม มีความต้องการที่จะเสียสละเพื่อสังคมโดยส่วนรวมขั้นอย่างแท้จริง ดังนั้นความถูกความผิดของบุคคลในขั้นนี้จะตัดสินใจจากมโนธรรมที่มีความเป็นสากลของแต่ละคน  โคลเบอร์กเชื่อว่าพัฒนาการทางจริยธรรมของบุคคลจะดำเนินเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 6 โดยไม่มีการข้ามขั้น แต่อย่างไรก็ตามบุคคลอาจจะติด  ชะงักในขั้นหนึ่งขั้นใดหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับสติปัญญาและสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น และโดยทั่วไปพบว่าบุคคลทั้งหลายจะพัฒนาทางจริยธรรมได้เพียงขั้นกฎ และระเบียบเท่านั้น
                ตัวอย่างสถานการณ์
                เช่น โด่งเป็นหมอ แต่ไม่สามารถทำเรื่องเบิกงบประมาณไปช่วยชาวเขาที่เจ็บป่วยได้ เขาจึงแอบขโมยยาจากโรงพยาบาลไป พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด แต่ในทางจริยธรรม หรือมนุษยธรรม โด่งเป็นหมอที่มีจิตใจดี ประสงค์ที่จะช่วยชาวเขาที่ลำบากอย่างแท้จริง ซึ่งบางครั้ง     พฤติกรรมบางอย่างกับความเป็นจริงทางสังคมมักสวนทางกัน บางคนเลือกทำตามอุดมคติ แต่บางคนเลือกที่จะเดินตามข้อกำหนดเป็นต้น

ตารางแสดงระดับริยะธรรมและขั้นการให้เหตุผลเชิงจริยธรรม

ระดับของจริยธรรม
ขั้นการให้เหตุผลเชิงจริยธรรม
ระดับ ก่อนกฎเกณฑ์
ขั้นที่1.หลักการหลบหลีกการลงโทษ

ขั้นที่2.หลักการแสวงหารางวัล
ระดับ ตามกฎเกณฑ์
ขั้นที่3.หลักการทำตามผู้อื่นที่เห็นชอบ

ขั้นที่4.หลักการทำตามหน้าที่สังคม
ระดับ เหนือกฎเกณฑ์
ขั้นที่5.หลักการทำตามคำมั่นสัญญา

ขั้นที่6.หลักการยึดอุดมคติ

ตามความคิดของโคลเบอร์ก จิยธรรมแต่ละขั้นเป็นผลของการไตร่ตรองในความคิด จำเป็นต้องอาศัยข้อมูล ข้อมูลที่นำมาพิจารณาส่วนหนึ่งเป็นความเข้าใจของตนเอง และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ทางสังคมที่ได้รับใหม่ โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นที่มีการพัฒนาการทางจริยธรรมในระดับสูงกว่าพัฒนาการของตนอยู่ 1 ขั้น หากข้อมูลต่างๆเหล่านี้มีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ความรู้สึกไม่สมดุลทำให้ต้องปรับตัวเอง โดยการสำรวจและจัดระเบียบความคิดความเข้าใจของตนเองใหม่ มีการจำแนกประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นการเข้าใจใหม่ที่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น ความเข้าใจใหม่เกิดจากการจัดระเบียบทางความคิดเป็นโครงสร้างความคิดใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม  ผลของกระบวนการนี้ทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ขึ้นมาแทนที่ความเข้าใจเก่า ทำให้เกิดจริยธรรมใหม่ขึ้นมาแทนที่จริงจริยธรรมเก่า จริยธรรมใหม่นี้จัดอยู่ในระดับสูงและมีคุณภาพแตกต่างจากจริยธรรมเก่าโดยสิ้นเชิง

ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างแนวความคิดของเพียเจต์ และโคลเบอร์ก

ความคล้ายคลึง
1.พัฒนาการทางจริยธรรมเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ
2.เมื่อเราตรวจสอบขั้นพัฒนาการและการตอบสนองในแต่ละขั้นแล้ว เราจะพบความคล้ายคลึงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพัฒนาการแต่ละขั้น พัฒนาการ 4 ขั้นแรกของโคลเบอร์ก เหมือนกันกับศีลธรรมตามความเป็นจริงของเพียเจต์ เน้นในกฎหรือข้อกำหนดต่างๆ จะมาจากผู้ที่มีอำนาจเหนือตน เช่นพ่อแม่ครูเป็นต้น หรือเป็นสิ่งที่มีอำนาจจากภายนอก เช่นกฎหมายหรือข้อปฏิบัติต่างๆ เป็นต้น เป็นการตัดสินตีความจากตัวบทกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงเจตนาของผู้กระทำหรือสถานการณ์
3.ขั้นหลังการมีระเบียบแบบแผนของโคลเบอร์ก มีความคล้ายคลึงกับพัฒนาการทางศีลธรรม ของเด็กที่มีอายุมากขึ้นของเพียเจต์  เพียเจทต์กล่าวว่ากฎสร้างขึ้นจากการที่บุคคลได้ทำความตกลงร่วมกันและตัดสินใจแต่ละครั้งได้พิจารณาเหตุการณ์ต่างๆประกอบด้วย

ความแตกต่าง
                1.เพียเจต์เชื่อว่าความคิดทางศีลธรรมจะเปลี่ยนไปเมื่อเด็กมีวุฒิภาวะมากขึ้น เขาไม่เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงมีความสัมพันธ์กับอายุและไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เขารู้สึกว่าความคิดทางศีลธรรมแต่ละประเภทมีความคาบเกี่ยวกัน บางครั้งเด็กอาจเข้าใจในระดับความเป็นจริง และในบางครั้งอาจมีวุฒิภาวะมากขึ้นในการตัดสินใจทางศีลธรรม ตรงข้ามกับโคลเบอร์ก เชื่อว่าลำดับขั้นทางศีลธรรมของเขาเป็นสากลและสัมพันธ์กับระดับอายุ มีความแน่นอน บุคลจะพัฒนาไปตามลำดับขั้น  แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องสามารถพัฒนาไปถึงขั้นสูงสุด แต่ทุกคนจะเริ่มตั้งแต่ระยะที่ 1 และค่อยๆก้าวไปในระดับที่สูงขึ้น
                2.เกี่ยวกับการที่สามารถเร่งพัฒนาการของการใช้เหตุผลทางศีลธรรม เพียเจต์เชื่อว่าเด็กในพัฒนาการขั้นก่อนปฏิบัติการทางความคิดและปฏิบัติการความคิดเชิงรูปธรรมไม่สามารถเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังหลักการศีลธรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งของได้ จนกระทั่งแบบแผนพฤติกรรมความคิดในขั้นปฏิบัติการทางความคิดเชิงนามธรรมค่อยๆ มีการวางรูปขึ้น ส่วนโคลเบอร์กเชื่อว่าพัฒนาการ 6 ระยะนี้สามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้ถ้ามีการสอนอย่างเหมาะสม
                อย่างไรก็ตามมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างพัฒนาการทางความคิดความเข้าใจของเพียเจต์กับพัฒนาการทางศีลธรรมของโคลเบอร์กมากยิ่งกว่าโครงร่างพัฒนาการทางศีลธรรมของสองแนวความคิดเพียเจต์อธิบายถึงขั้นก่อนปฏิบัติการความคิดเชิงรูปธรรม โคลเบอร์กอธิบายถึงพัฒนาการทางด้านศีลธรรมระดับก่อนมีระเบียบแบบแผน และหลังมีระเบียบแบบแผน แม้ว่าเพียเจต์ไม่ได้เน้นขั้นตอนที่เป็นระเบียบของพัฒนาการทางศีลธรรมก็ตาม แต่เขาเชื่อว่าพัฒนาการทางความคิดของเด็กจะเป็นลำดับขั้นแน่นอน ระยะปฏิบัติการทางความคิดของเด็กจะเป็นลำดับขั้นแน่นอน ระยะปฏิบัติตามความคิดเชิงนามธรรมของเพียเจต์ และระดับหลังการมีระเบียบแบบแผนของโคลเบอร์กเน้นถึงความเข้าใจและการประยุกต์ใช้หลักการซึ่งเป็นนามธรรม โดยพิจารณาสภาพการณ์เฉพาะอย่าง และบุคคลไม่สามารถเข้าสู่พัฒนาการทางศีลธรรมหลังมีระเบียบแบบแผนได้จนกว่าเขาจะสามารถใช้ความคิดเชิงนามธรรมได้
                                                                                                 งานวิชาชีพปวค. 2548